ชุมชนไทดำ วังหยวก
1. ชุมชนไทดำ วังหยวก
บ้านวังหยวกเป็นชาวไทดำที่เดินทางจากเขาวัง เพชรบุรี โดยเดินทางมากับเรือยนต์ลากข้าว มาขึ้นที่ปากน้ำโพที่เป็นชุมชนการค้าของชาวจีน แต่ชาวไทดำประกอบอาชีพหลักจากการทำเกษตรกรรมจึงเดินเท้าต่อมาที่วังหยวก โดยชื่อ “วังหยวก” มีที่มาจากลักษณะเดิมของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่าดงดิบ ป่ากล้วยที่เต็มไปด้วยหยวกกล้วย เริ่มแรกจำนวนครอบครัวที่มาตั้งถิ่นฐานมีเพียง 2-3 ครอบครัวโดยมีการตั้งนามสกุลของกลุ่มรุ่นแรก คือ “ปานแห้ว” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาจึงมีญาติพี่น้องเดินทางตามมาจนขยายเป็นหมู่บ่าน
2. งานสงกรานต์สืบสานประเพณีไททรงดำ วังหยวก
งานจัดเป็นประจำทุกปีช่วงสงกรานต์ประมาณวันที่ 16 เมษายน ถือเป็นงานพบปะสังสรรค์ระหว่างกลุ่มชาวชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งชาวไทดำ ไทมอญ และไทญวน มีการประกอบพิธีกรรมในช่วงเช้าเพื่อไหว้บรรพบุรุษบนกะล้อห่อง ช่วงเย็นมีการออกร้านผลิตภัณฑ์ชุมชน ชมการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งการฟ้อนรำ รำแคน และการละเล่นมกรสื่อรัก รวมทั้งร่วมกันรับประทานอาหารชาวไทดำ ทั้งปลาปิ้งต๊บ กบโอ๋ และผักชุบห้าไห
3. มะกอนสื่อรัก
การละเล่นมะกอนสื่อรัก เป็นการละเล่นโยนลูกช่วงของหนุ่มสาวต่างบ้าน เพื่อลงข่วงโอ้สาวหรือจีบสาว โดยฝ่ายชายสามารถนอกพักค้างบ้านฝ่ายหญิง เมื่อตื่นเช้ามาฝ่ายชายมีหน้าที่หาบน้ำใส่โอ่งสำหรับอาบน้ำ และนำแหออกหาปลาเพื่อนำมาประกอบอาหารเช้า ส่วนฝ่ายหญิงต้องเตรียมข้าวสำหรับหุงข้าวด้วยหม้อดินและเตรียมเครื่องแกงต่างๆ
4. ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ไททรงดำ
แม้ว่าการทอผ้าของกลุ่มชาวไทดำของบ้านวังหยวกได้เลือนหายไปในอดีตจากความนิยมเสื้อผ้าสำเร็จรูป แต่ได้เริ่มมีการกลับมารื้อฟื้นใหม่โดยกลุ่มทอผ้าที่มีป้าวันเพ็ญเป็นผู้นำ ในปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 10 คนที่ใช้เวลาว่างในการทอผ้าด้วยกี่พุ่งแบบโบราณเพื่อถักทออันเป็นเอกลักษณ์ คือ ผ้าซิ่นลายแตงโม และผ้าทอสีดำเพื่อนำมาตัดเย็บเป็น “เสื้อฮี” แขนยาวกลัดด้วยกระดุมเงิน