1. ชุมชนไทมอญ บ้านแก่ง
ชุมชนบ้านแก่งเป็นชาวมอญจากปากเกร็ดที่เดินทางค้าขายเครื่องปั้นดินเผาทางเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มมาลงหลักปักฐานตั้งชุมชนราวปี พ.ศ. 2398 ตระกูลบุกเบิกเริ่มแรก คือ ตระกูลช่างปั้น ตระกูลเลี้ยงสุข ตระกูลแก้วสุทธิ และตระกูลเรืองบุญ ในปัจจุบันมีประชากรเชื้อสายมอญรวมทั้งสิ้นประมาณ 200 ครัวเรือน ประกอบอาชีพทำนา ปลูกต้นรัก และผลิตเครื่องปั้นดินเผา
2. ขบวนรถแห่เครื่องปั้นดินเผา สงกรานต์บ้านแก่ง
งานสงกรานต์ของชาวไทมอญ บ้านแก่ง เป็นงานสืบสานวัฒนธรรมชาวมอญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่พ.ศ. 2549 ณ ศูนย์พิพิธภัณฑ์ เครื่องปั้นดินเผาหมู่บ้าน OTOP โดยชาวมอญจากทั่วประเทศร่วมแต่งชุดมอญมาร่วมขบวนแห่ที่ประดับประดาด้วยเครื่องปั้นดินเผาพร้อมกับกลุ่มผู้แห่หงส์ธงตะขาบ มีการเลี้ยงอาหารมอญ เช่น ข้าวแช่ ขนมครกมอญ ก่อนจะรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ และร่วมชมการแข่งขันปั้นเครื่องปั้นดินเผาจากตัวแทนของหมู่ต่างๆในบ้านแก่ง
3. สไบมอญ
สไบมอญ เป็นเครื่องแต่งกายของหญิงชาวมอญที่นิยมห่มสไบสำหรับงานพิธีต่างๆ ผ้าสไบมอญมักใช้ผ้าสีฉูดฉาดสดใสที่ปักสวดลายต่างๆอย่างสวยงามทั้งผืน ลวดลายที่นิยมปักมักเป็นลวดลายดอกไม้ เช่น ดอกมะเขือ ดอกบัว ดอกมะลิ ลายดาวล้อมเดือน หรือลายหงษ์ หากสาวมอญคล้องสไบในเทศกาลงานรื่นเริง เช่น งานสงกรานต์ มักคล้องให้ชายผ้าห้อยมาทั้งสองด้าน แต่หากไปร่วมประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนามักคล้องสไบแบบเฉียง